ที่มาของ “ตู้ปันสุข” จากตู้หนังสือแบ่งปันการอ่าน สู่ตู้อาหารแบ่งปันกันอิ่ม แล้วอะไรคือหัวใจของการแบ่งปัน

ในปี 2009 “ทอดด์ โบล” (Todd Bol) ชาวเมืองฮัดสัน รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ต้องการยกย่องแม่ของเขาซึ่งเป็นครูและเป็นคนที่รักการอ่านมาก ทอดด์เอาเศษไม้เหลือๆ ในโรงรถมาสร้างตู้เล็กๆคล้ายบ้านหลังจิ๋ว ติดตั้งไว้ที่สนามหญ้าหน้าบ้านแล้วใส่หนังสือลงไปจนเป็นเหมือนห้องสมุดจิ๋ว เพื่อแบ่งปันความรู้และการอ่านไปสู่คนในชุมชน
คอนเซ็ปต์ของห้องสมุดจิ๋วนี้คือ Take a book, return a book (หยิบหนังสือไปเล่มหนึ่ง เอามาเติมเล่มหนึ่ง) หนังสือสามารถหยิบไปอ่านได้เลย ฟรี แต่ถ้าวันไหนคุณมีหนังสือที่อ่านแล้วและอยากแบ่งปัน ก็เอากลับมาเติมใส่ตู้ได้
เพื่อนบ้านของทอดด์ชอบใจไอเดียนี้และอยากมีตู้หนังสือแบ่งปันกันอ่านบ้าง ทอดด์ก็ทำแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านไปเรื่อยๆ กระทั้งในปี 2012 ทอดด์ได้ตั้งมูลนิธิชื่อ little Free Library ขึ้น เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการแบ่งปันของคนในชุมชน มีคนขอนำไอเดียตู้หนังสือจิ๋วไปใช้และมาขึ้นทะเบียนกับมูลนิธิเกือบ 100,000 ตู้ทั่วสหรัฐฯ
ทอดด์เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อปี 2018 ในวัย 62 ปี แต่วัฒนธรรมตู้แบ่งปันหนังสือของเขากระจายไปทั่วประเทศ แล้วยังแพร่หลายไปในต่างประเทศด้วย ทั้งที่แคนาดา เนเธอร์แลนด์ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บราซิล ฯลฯ
ต่อมามีคนเห็นว่าหากดัดแปลงตู้แบ่งปันการอ่านมาเป็นตู้แบ่งปันอาหาร เพื่อแบ่งอาหารให้ คนไร้บ้าน คนยากจน หรือคนตกงานก็คงจะดี จึงเริ่มมีการดัดแปลงไปเรื่อย ๆ ในหลายพื้นที่แต่ยังคงคอนเซ็ปต์เดิมไว้คือ Take what you need, leave what you can (หยิบไปแต่พอดี ถ้ามีเอามาแบ่งปัน) ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี 2018 ที่เมืองลิงคอล์น รัฐเนบราสกา สหรัฐอเมริกา นักเรียนหญิง 2 คน กําลังช่วยกัน เติมอาหารกระป๋องและอาหารสําเร็จ รูปลงใน ตู้แบ่งปันอาหาร ซึ่งเคยเป็นตู้หนังสือมาก่อน
ยิ่งในช่วงโควิด-19 ระบาด ก็ยิ่งมีคนดัดแปลง ตู้หนังสือ ให้เป็นอาหารมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเหมือนเดิมก็คือ ไม่ว่า ในตู้จะเป็น หนังสือหรืออาหาร แต่คนที่หยิบไปก็มักจะทิ้งโน้ตขอบคุณเอาไว้ให้ผู้ให้ชื่นใจเสมอ
ในช่วงโควิด-19 นี้เอง “คุณสุภกฤษ กุลชาติวิจิตร” เจ้าของเพจ “รู้รอบตอบโจทย์ธุรกิจ” ได้แรงบันดาลใจจากตู้แบ่งปันอาหารเลยริเริ่ม โครงการ “ตู้ปันสุข” ขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับ ผลกระทบจากโควิด-19 ในประเทศไทย จากตู้ปันสุขไม่กี่ตู้ มีคนช่วยต่อยอดความคิดนี้ จนกลายเป็นไวรัล มีตู้ปันสุขผุดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพื่อช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน
แต่น่าเสียดายที่คนไทยบางคนยังไม่เข้า ใจเรื่อง การแบ่งปันและเอาไปแต่พอดีนี้ จึงมีคนตระเวนขน อาหารในตู้ปันสุขตามที่ต่าง ๆ ไม่เหลือให้คนอื่น บางคนเอารถเก๋งมาขน บางแห่งก็แย่งชิงกันชุลมุน เมื่อของหมดก็เรียกร้องให้เจ้าของผู้นํามาเติม
จนหลายคนเสียกําลังใจที่จะแบ่งปันต่อ
แต่คนที่เข้าใจก็มี มีคนพบคุณลุงคนนี้หยิบนม จากตู้ปันกันอิ่มที่หน้าโรงพยาบาลธนบุรี-อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยลุงหยิบมาเพียงกล่องเดียว ลุงบอกว่า นมกล่องเดียวก็อิ่มแล้ว เอาไว้ให้คนอื่น ได้กินบ้าง…และนี่แหละคือหัวใจของ “การแบ่งปัน”

ขอบคุณแหล่งที่มาจาก facebook : Poetry of Bitch

ที่มาของ #ตู้ปันสุขจากตู้หนังสือแบ่งปันการอ่านสู่ตู้อาหารแบ่งปันกันอิ่ม.แล้วอะไรคือหัวใจของการแบ่งปัน?

โพสต์โดย Poetry of Bitch เมื่อ วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม 2020