๑ ธันวาคม“วันดำรงราชานุภาพ”

วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันดำรงราชานุภาพ”  เพื่อน้อมรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งพระองค์มีคุณูปการต่อประเทศไทยมากมายหลายด้าน นอกจากจะได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) แล้ว ยังทรงได้รับการถวายพระนามเป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” อีกด้วย

พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน และทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก ถึงขนาดตรัสชมว่า ทรงเป็นเสมือน “เพชรประดับพระมหาพิชัยมงกุฎ”

พระราชกรณียกิจที่สำคัญนั้น มีมากมายหลายด้าน อาทิ 

  • ด้านการเมืองการปกครอง  ที่ทรงริเริ่มก่อตั้งกระทรวงมหาดไทยและดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นพระองค์แรก 
  • ด้านสาธารณสุข ทรงมีพระดำริริเริ่มให้มีโอสถศาลา สำหรับรับหน้าที่ผลิตยาแจกจ่ายให้ราษฎรในตำบลห่างไกล ซึ่งปัจจุบันคือ สถานีอนามัย  อีกทั้งยังทรงก่อตั้งโรงพยาบาลในท้องถิ่นทุรกันดาร และทรงริเริ่มก่อตั้งกรมพยาบาลขึ้น ซึ่งปัจจุบันคือกระทรวงสาธารณสุข
  • ด้านการศึกษา ทรงเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบพระองค์แรก  , พระองค์ยังทรงริเริ่มก่อตั้งกรมธรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลการศึกษาโดยตรง และทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธรรมการพระองค์แรก (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) อีกทั้งยังทรงเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสถานที่ที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาหลายแห่ง เช่น กรมศิลปากร พิพิธภัณฑสถาน หอสมุดพระนคร ราชบัณฑิตยสภา

ระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งนายกบัณฑิตยสภา ทรงอนุรักษ์และชำระหนังสือสำคัญทางประวัติศาสตร์เพื่อให้มีความถูกต้องสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งทรงอุทิศเวลานิพนธ์หนังสือที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้มากกว่า 650 เรื่อง ได้แก่ 

  • ประวัติบุคคลสำคัญ 180 เรื่อง 
  • การศึกษา ขนบธรรมเนียมประเพณี 146 เรื่อง 
  • ศิลปะวรรณคดี 111 เรื่อง 
  • ประวัติศาสตร์โบราณคดี 103 เรื่อง 
  • ภูมิศาสตร์การท่องเที่ยว 74 เรื่อง 
  • นอกจากนี้ยังมีกวีนิพนธ์ วรรณคดีอีกจำนวนหนึ่ง อันเป็นมรดกทางปัญญาของชาวโลกมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ด้วยพระปรีชาสามารถดังที่ได้กล่าวมาล้วนเป็นที่ประจักษ์ในในพระอัจฉริยภาพ  พระองค์จึงเป็นบุคคลไทยพระองค์แรกที่ได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)  ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2505 และทรงได้รับการถวายพระนามว่า “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย”  

credit
: kapook
: สถาบันดำรงราชานุภาพ